เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ย้ำเขตพื้นที่ ระวังละเมิดสิทธิเด็ก ทบทวนมาตรการการรายงานข่าว และการจัดการความรุนแรงในโรงเรียนทั่วประเทศ

วันที่ 12 มีนาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมทบทวนมาตรการการรายงานข่าว และการจัดการความรุนแรงในโรงเรียน ให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ (ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting) โดยมี นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายตฤณ ก้านดอกไม้ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. นายเดชา ปะณะศรี รองผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. นางสาวกมลลักษณ์ ลอยพูน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์และเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสาร นายธีรดนย์ ศรีฟ้า ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา พร้อมด้วยบุคลากร และเจ้าหน้าที่กลุ่มบริหารเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์และเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสาร เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ สพฐ. (DOC) อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ
.
การประชุมทบทวนมาตรการการรายงานข่าว และการจัดการความรุนแรงในโรงเรียน ให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ (ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting) ในครั้งนี้เพื่อย้ำนโยบายที่ดำเนินการร่วมกันระหว่าง สพฐ. ส่วนกลาง และเขตพื้นที่การศึกษา สร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้ระมัดระวังการรายงานข่าว การเผยแพร่ภาพข่าวที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ การคำนึงถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่เด็กและเยาวชนอาจเลียนแบบ รวมถึงทบทวนมาตรการการให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และการจัดการความรุนแรงในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดทันที ให้มีความชัดเจนในการปฏิบัติงาน
.
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า “ทุกวันนี้ในสื่อ social ต่างๆ มีภาพการกระทำความรุนแรงของเด็ก ภาพที่ละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งจะถูกบันทึกเป็น digital footprint บนโลกออนไลน์จนกระทั่งเด็กเติบโต อย่าให้เด็กของเราต้องถูกกระทำเช่นนี้ ครู ผู้บริหาร เขตพื้นที่ อยู่ใกล้ชิดกับเด็กต้องคอยสอดส่องระมัดระวัง และไม่เป็นผู้ที่เผยแพร่ภาพต่างๆ เสียเอง ในส่วนของ สพฐ. ขณะนี้ได้ประสานไปยังกระทรวงดิจิทัล และสมาคมสื่อต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือไม่เผยแพร่ภาพไม่เหมาะสมของเด็กแล้ว กรณีการติดตามเหตุในพื้นที่ ขอให้ ผอ.เขต ตื่นตัว กระตือรือร้น รู้ว่าพื้นที่ในความรับผิดชอบของตนเกิดเหตุอะไรบ้าง ต้องเรียนรู้ ต้องนำมาถอดบทเรียน จัดประชุมพูดคุยในเขตพื้นที่เพื่อวิเคราะห์และสามารถป้องกันเหตุอันตรายได้อย่างรวดเร็ว”
.
ทั้งนี้ สพฐ. มีมาตรการกำกับติดตามและการรายงานเหตุความไม่ปลอดภัย และขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา เฝ้าระวังสถานการณ์หรือเหตุอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงรายงานผลมายัง ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. โดยด่วนเพื่อที่จะได้เข้าช่วยเหลือได้ทันต่อสถานการณ์ ต่อไป