วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 11.00 น. ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วย ดร.สุเนตร ขวัญดำ ผอ.สพม.นครปฐม นายธีรดนย์ ศรีฟ้า ผอ.กลุ่มส่งเสริมความสุขและความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย (ศสป.สพฐ.) และเจ้าหน้าที่ สพม.นครปฐม ลงพื้นที่ติดตามการช่วยเหลือ กรณีเหตุนักเรียนยังไม่ได้รับวุฒิการศึกษา เพื่อไปเรียนต่อ เนื่องจากยังไม่ได้ชำระเงินบำรุงการศึกษา ณ โรงเรียนในพื้นที่ จ.นครปฐม
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า “ในเรื่องดังกล่าว พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ และ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มีความห่วงใยนักเรียนและผู้ปกครองที่กำลังประสบความเดือดร้อน จึงมอบหมายให้ตนและคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เพื่อให้การช่วยเเบ่งเบา ลดภาระผู้ปกครอง และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ให้นักเรียนได้จบการศึกษาและได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นอย่างมีคุณภาพ
ในวันนี้ เวลา 13.00 น. ผู้ปกครองนักเรียนพร้อมด้วยนักเรียน ได้เดินทางมาเพื่อติดต่อชำระเงินบำรุงการศึกษาที่โรงเรียน ตนจึงได้พบปะพูดคุยกับผู้ปกครองและนักเรียน รับฟังถึงข้อติดขัดที่เกิดขึ้นและให้กำลังใจ ให้คำแนะนำในการเรียนแก่นักเรียน พร้อมทั้งแจ้งว่าต่อผู้ปกครองว่า โรงเรียนได้เสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขอยกเว้นเงินบำรุงการศึกษา โดยมติของคณะกรรมการสถานศึกษาได้เห็นชอบให้ยกเว้นเงินบำรุงการศึกษาของนักเรียนรายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ตนจึงมอบหมายให้ผู้อำนวยการโรงเรียนมอบใบสำเร็จการศึกษาให้แก่นักเรียน เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น พร้อมนี้ได้มีพระจาก จ.ลำปาง ร่วมสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนเพื่อใช้ในการศึกษาเล่าเรียน
สพฐ. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง จึงได้มีการประสานกับทางโรงเรียนในการพิจารณาให้การช่วยเหลือนักเรียน โดยโรงเรียนต้องประเมินและตรวจสอบให้รวดเร็วกรณีพบว่า นักเรียนเข้าข่ายขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา จะต้องประสานไปยังผู้ปกครอง ว่านักเรียนต้องทำอย่างไร ผู้ปกครองต้องทำอย่างไร เช่น โรงเรียนอาจพิจารณาสนับสนุนทุนการศึกษาหรือทุนจากการการทำงานให้แก่โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนนำเงินส่วนนี้มาเป็นค่าเล่าเรียน และเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แก่นักเรียนว่าการใช้ชีวิตประจำวัน จะต้องมีความรับผิดชอบในการช่วยเหลือตนเอง หรือแม้กระทั้งกระบวนการผ่อนชำระ นักเรียนอาจผ่อนชำระน้อยลง เพราะมีการช่วยเหลืองานของโรงเรียนอยู่แล้ว ซึ่งกระบวนการนี้จะต้องทำการสื่อสารไปยังทุกเขตพื้นที่เพื่อเป็นแถวปฏิบัติ นอกจากนี้ ครูและบุคลากรของโรงเรียนต้องเข้าใจถึงหลักการให้โอกาส และหลักการที่จะพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพเหมาะสม และมีทักษะสื่อสารและมีวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อนักเรียนโดยคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนพร้อมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเห็นถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ เพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป”