สพฐ. ห่วงใยเน้นย้ำมาตรการป้องกันภัยพายุฝนฟ้าคะนอง

ข่าวอัพเดท


คำสำคัญ


วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาก้าวเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย ได้เกิดเหตุพายุฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความตระหนักและห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และทรัพย์สินของทางราชการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ และเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และทรัพย์สินของทางราชการ จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในสังกัด เฝ้าระวังความปลอดภัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันภัยที่เกิดจากวาตภัย ดังนี้
1. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ติดตามการแจ้งเตือนภัย การสื่อสารความเสี่ยงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอนามัย สำนักงานการไฟฟ้า สื่อมวลชนในหลายช่องทาง เครือข่ายในพื้นที่ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รู้เท่าทันอย่างใกล้ชิด
2. ให้สถานศึกษาทุกแห่ง กำหนดให้มีระบบการสื่อสารที่รวดเร็ว ฉับไว จัดให้มีแผนเผชิญเหตุมีการฝึกซ้อมตามแผนเผชิญเหตุ มีระบบข้อมูลการติดต่อหน่วยงาน เครือข่ายในพื้นที่ หากสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
3. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทุกแห่ง แจ้งเตือนไปยัง นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ดูแลสุขภาพและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น อาทิ เฝ้าระวังสุขภาพของกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพ เตรียมจัดเก็บยาสามัญประจำบ้านหรือยาที่ต้องใช้เป็นประจำและอุปกรณ์อื่นๆ ให้พร้อมอยู่เสมอ หากเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันในบ้านเรือนให้รีบยกสะพานไฟลง เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่วไหล หลีกเลี่ยงการอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือในช่วงเกิดฝนตก ฟ้าคะนองหรือฟ้าฝ่า หลีกเลี่ยงการเล่นหรือสัมผัสน้ำเน่าขัง หมั่นล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืน เฝ้าระวังสัตว์ที่มีพิษและแมลงนำโรค และหากมีการแจ้งให้อพยพ ให้รีบเคลื่อนย้ายตามที่เจ้าหน้าที่แจ้งโดยด่วน
4. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ใกล้อาคาร อาคารเรียนหรือบริเวณโรงเรียน หรืออยู่ใกล้พื้นที่ป่า ให้ตัดแต่งต้นไม้ภายในโรงเรียน และจัดทำแนวป้องกันไฟฟ้า ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้มาช่วยเหลือสนับสนุน
5. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่มีความพร้อมและปลอดภัยสำหรับการใช้ไฟฟ้า อาทิ หากมีอาคารสูงควรติดตั้งสายล่อฟ้าป้องกันฟ้าผ่า เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน อย่าติดตั้งเสาอากาศวิทยุหรือเสาอากาศโทรทัศน์ใกล้สายไฟฟ้า และตรวจสอบให้อยู่ในสภาพแข็งแรง งดการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าชั่วคราวในขณะที่มีพายุ-ฝน นอกจากมีกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งติดตั้งสายดินที่อุปกรณ์ป้องกัน แผงเมนสวิตซ์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อตัวเปียก ควรเช็ดตัวให้แห้งก่อนและยืนบนพื้นที่แห้งและเป็นฉนวน
6. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ที่สามารถอำนวยความสะดวกใช้เป็นสถานที่อพยพและศูนย์พักพิงชั่วคราวกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้ช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ
7. เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินให้รายงานผลกระทบจากการประสบเหตุวาตภัยให้ต้นสังกัดทราบทันที
“ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวอาจกระทบต่อสุขภาพของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามข้อห่วงใยของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. จึงได้เน้นย้ำให้ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกัน และขอความร่วมมือนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน เฝ้าระวังความปลอดภัยจากเหตุพายุฝนฟ้าคะนอง และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว